ซอฟต์แวร์






          ซอฟต์แวร์ (Software) คือ ชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทุกประเภทที่สั่งงานให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามลำดับขั้นตอนการทำงาน ซึ่งเขียนขึ้นด้วยภาษาของคอมพิวเตอร์
          การที่คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่เราต้องการได้นั้น เพราะมีซอฟต์แวร์มาช่วยสนับสนุนการทำงาน เช่น ใช้ซอฟต์แวร์ประมวลคำในการพิมพ์เอกสาร ใช้ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลในการรวบรวม และจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ใช้ซอฟต์แวร์เกมในการเล่นเกม ใช้ซอฟต์แวร์ติดต่อสื่อสารเข้าสู่อินเทอร์เน็ต


          

          ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์มีมากมาย ซึ่งอาจได้รับการพัฒนาโดยผู้ใช้งาน ผู้พัฒนาระบบ หรือผู้ผลิตเพื่อจำหน่าย โดยซอฟต์แวร์สามารถแบ่งลักษณะการทำงานได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ซอฟต์แวร์ระบบ (system software) และซอฟต์แวร์ประยุกต์ (application software)







          ซอฟต์แวร์ระบบ (system software) คือ ซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์ และประสานงานระหว่างซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และผู้ใช้งาน
       

ซอฟต์แวร์ระบบประกอบด้วย 

  • ระบบปฎิบัติการ (operating system) 
  • โปรแกรมแปลภาษาคอมพิวเตอร์ (translator) 
  • โปรแกรมอรรถประโยชน์ (utility program) 
  • โปรแกรมขับอุปกรณ์ (device driver)


ระบบปฎิบัติการ (operating system) 

          ระบบปฏิบัติการทำหน้าที่จัดสรรและควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์ เช่น การรับข้อมูลจากคีย์บอร์ด การจัดสรรพื้นที่ในหน่วยความจำ การควบคุมการทำงานของซีพียู การควบคุมการอ่าน และบันทึกข้อมูลของหน่วยเก็บข้อมูล การควบคุมการแสดงส่วนติดต่อกับผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถติดต่อกับส่วนต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรมประยุกต์ได้

          ส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (user interface) คือ ส่วนที่ผู้ใช้สามารถมองเห็น และสามารถกระทำการต่างๆ เป็นส่วนที่ปรากฎอยู่บนพื้นที่การทำงาน หรือเดสก์ทอป (desktop) ของคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้สามารถติดต่อกับซอฟต์แวร์ หรือฮาร์ดแวร์เพื่อทำงานต่างๆ เช่น การเรียกโปรแกรมประยุกต์ให้ทำงาน การใช้งานอินเทอร์เน็ต การเล่นเกม การเข้าถึงไฟล์ในฮาร์ดดิสก์ การเขียนแผ่นซีดี หรือการปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยต้องส่งผ่านส่วนติดต่อกับผู้ใช้นี้


ส่วนติดต่อกับผู้ใช้ มี 2 ลักษณะ คือ



          1. ส่วนติดต่อกับผู้ใช้แบบบรรทัดคำสั่ง (command-line user interface) เป็นส่วนติดต่อกับผู้ใช้ที่ต้องป้อนข้อความคำสั่งทีละ 1 ข้อความ และต้องพิมพ์คำสั่งให้ถูกต้องตามรูปแบบ ทำให้ไม่สะดวกในการทำงาน 



          2. ส่วนติดต่อกับผู้ใช้แบบกราฟิก (Graphical User Interface: GUI) เป็นส่วนติดต่อกับผู้ใช้ที่มีองค์ประกอบทางกราฟิกต่างๆ เช่น

  • ไอคอน หรือสัญรูป (icon) ซึ่งเป็นรูปภาพที่ใช้แทนคำสั่ง โปรแกรมและองค์ประกอบต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรมประยุกต์ โปรแกรมอรรถประโยชน์ ไฟล์ หรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
  • หน้าต่าง (window) เพื่อแสดงขอบเขตการทำงานของโปรแกรมบนเดสก์ทอป โดยทั่วไปมี 1 หน้าต่างต่อ 1 โปรแกรม ภายในหน้าต่างอาจประกอบด้วยแถบเมนูคำสั่ง ปุ่มคำสั่ง กล่องข้อความ เป็นต้น
         เนื่องจากระบบปฏิบัติการจะต้องมีการติดต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนั้น ระบบปฏิบัติการแต่ละระบบ จึงได้รับการออกแบบให้ทำงานได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละแบบ เช่น พีซี (Personal Computer: PC) เครื่องช่วยงานส่วนบุคคลแบบดิจิทัล หรือพีดีเอ (Personal Digital Assitant : PDA) โทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile phone) สำหรับระบบปฏิบัติการที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีมากมาย เช่น

  • ระบบปฏิบัติการดอส
  • ระบบปฏิบัติการวินโดวส์
  • ระบบปฏิบัติการแมค
  • ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์
  • ระบบปฏิบัติการลินุกซ์
  • ระบบปฏิบัติการอื่นๆ

ระบบปฏิบัติการดอส

  • Disk Operating System : DOS
  • พัฒนาโดย บิล เกตส์ (Bill Gates) และ พอล อเลน (Paul Allen) ในปี พ.ศ.2524
  • ส่วนติดต่อกับผู้ใช้เป็นแบบบรรทัดคำสั่ง

ระบบปฏิบัติการวินโดวส์



  • Windows
  • พัฒนาโดย บริษัท ไมโครซอฟต์
  • ส่วนติดต่อกับผู้ใช้เป็นแบบกราฟิก
  • สามารถทำงานได้ทีละหลายงานพร้อมกัน (multitasking) 

ระบบปฏิบัติการแมค


  • Mac OS
  • พัฒนาโดย บริษัท แอปเปิล ในปี พ.ศ. 2527
  • พัฒนามาจากระบบปฏิบัติการยูนิกซ์
  • เป็นผู้พัฒนาส่วนติดต่อผู้ใช้แบบกราฟิกเป็นรายแรก

ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์

  • UNIX
  • พัฒนาโดยห้องปฏิบัติการเบลล์ ของ เอทีแอนด์ที (AT&T's Bell Laboratories) ในปี พ.ศ. 2512






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น